หลักการของหลักสูตร
สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พัฒนาหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามที่ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 โดยกำหนดเปิดหลักสูตรการอบรมรุ่นแรกระหว่าง วันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมุ่งที่จะพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ภายใต้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) รวมทั้ง งบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารกองสาธารณสุข ผู้บริหารกองคลัง บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการ กปท. รวมทั้ง นักวิชาการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่สนใจในการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีภาวะผู้นำและมีทักษะในการบริหารงานสาธารณสุขในท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สามารถ คิด วิเคราะห์ วางแผน กำกับ ติดตามโครงการหรืองานด้านสาธารณสุขที่ดำเนินการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- มีทักษะในการสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างทีมทำงานและเครือข่ายการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
เป็นผู้บริหาร หรือบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการ กปท. นักวิชาการ บุคคลที่เกี่ยวข้องที่สนใจในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
ลักษณะของหลักสูตรและระยะเวลาการศึกษา
เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ตรงด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพและงานบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลา 1-3 วัน รวมทั้ง ให้มีการศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่องด้วยตนเอง ฝึกทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานด้วยตนเอง (Self Study) ในระยะเวลา 3 เดือนหลังเข้ารับการอบรม
โครงสร้างของหลักสูตร
เนื้อหาวิชาแบ่งเป็น 4 หมวดรายวิชา (Module) ได้แก่
- ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- ความเป็นมาของหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย
- แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.)
- หลักการ และเจตนารมณ์ของกองทุน กปท.
- การพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการสร้างมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบริหารการพัฒนา
- ความสำคัญและหลักการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- แนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- ประกาศ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่ใช้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 และเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
- กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- การวิเคราะห์ เชื่อมโยง และทำความเข้าใจ เจตนารมณ์ของประกาศ ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ใช้ดำเนินงานบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- แนวทางและวิธีปฏิบัติงาน กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
- ขั้นตอน และวิธีการ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
- แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการ/อนุกรรมการ
- แนวทางการจัดทำแผนการเงินกองทุนฯ
- แนวทางการจัดทำแผนสุขภาพชุมชน
- แนวทางการพิจารณา/เสนอ โครงการ
- แนวทางการบริหารและพัฒนากองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ
- การใช้งานโปรแกรม กปท. เพื่อจัดทำระบบบัญชี
- การใช้งานโปรแกรม LTC
- แนวทางการกำกับติดตามและประเมินผล
วิธีการจัดการเรียนการสอน
จัดฝึกอบรมเป็นเวลา 3 วัน ในลักษณะ Combination ให้ตรงกับความจำเป็นของผู้เข้าร่วมการอบรม ตามบทบาทหน้าที่ในการทำงานหรือบริหารจัดการกองทุน กปท. ได้แก่
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นายกและปลัด) ระยะเวลา 1 วัน ( 1 วันแรกของการอบรม โดย มีสิทธิได้รับเกียรติบัตรตามหลักสูตรที่เข้าร่วม)
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลา 3 วัน( ตลอดหลักสูตร)
รูปแบบกิจกรรม
จัดฝึกอบรมเป็นเวลา 3 วัน ในลักษณะ Combination ให้ตรงกับความจำเป็นของผู้เข้าร่วมการอบรม ตามบทบาทหน้าที่ในการทำงานหรือบริหารจัดการกองทุน กปท. ได้แก่
- อภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น ร่วมกับ ผู้มีประสบการณ์ตรง
- แบ่งกลุ่มย่อย มอบหมายงานกลุ่ม ทำแบบฝึกหัด (Problem-based learning)
- วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนและบรรยายสรุป โดย วิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ
- ประเมินวัดผลการเรียนรู้รวบยอด
- มอบหมายงาน ต่อยอดการทำงานในพื้นจริง ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนในระบบ Social network
ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการปฐมนิเทศ รับฟังการบรรยายและทำกิจกรรมตามที่กำหนด โดยผู้รับการอบรมจะได้รับเอกสารหรือสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง วันสุดท้ายของหลักสูตร ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับมอบหมายให้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง เมื่อผู้เข้ารับการอบรมมีการส่งแบบประเมิน และนำเสนอผลการดำเนินงานแลกเปลี่ยนตามเกณฑ์ตามกำหนดแล้ว จึงจะได้รับเกียรติบัตร
วันที่จัดอบรม
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นายกและปลัด)
- รุ่นที่ 1 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
- รุ่นที่ 2 วันที่ 31 กรกฎาคม 2563
- รุ่นที่ 3 วันที่ 17 ธันวาคม 2563
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- รุ่นที่ 1 วันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2563
- รุ่นที่ 2 วันที่ 30 กรกฎาคม– 2 สิงหาคม 2563
- รุ่นที่ 3 วันที่ 16-19 ธันวาคม 2563
การประเมินผล
การประเมินผลระหว่างการอบรม
- การมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ และสามารถเข้ารับอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
- แบบสอบถามประเมินความรู้ ความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงหลังการอบรมแต่ละครั้ง
การประเมินผลหลังการอบรม มีการติดตามการ นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง ตามบทบาท หน้าที่ของผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละพื้นที่ ในระยะเวลา 3 เดือนหลังเข้ารับการอบรม
สถานที่จัดฝึกอบรม
สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ต. ศาลายา อ. พุทธมณฑล จ.นครปฐม จำนวนที่เปิดรับ รุ่นละ 50-70 คน แบ่งเป็น
- หลักสูตรสำหรับผู้ บริหารอปท. ได้แก่ นายกอปท./ปลัด.อปท. จำนวน 20 คน
- หลักสูตร สำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ อปท. บุคลากรท้องถิ่น นักวิชาการและผู้สนใจ ตาม คุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 50 คน
การประเมินผลหลังการอบรม มีการติดตามการ นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง ตามบทบาท หน้าที่ของผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละพื้นที่ ในระยะเวลา 3 เดือนหลังเข้ารับการอบรม
ค่าลงทะเบียน
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นายกและปลัด) ค่าลงทะเบียน คนละ 1,500 บาท
- หลักสูตร สำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าลงทะเบียนคนละ 4,500 บาท(รวมค่าเอกสาร อาหารว่าง อาหารกลางวัน ตลอดการอบรม)