Lifestyle Medicine Training Program
หลักสูตรเวชศาสตร์วิถีชีวิต (หลักสูตรอบรมระยะสั้น) รุ่นที่ 3
อบรมระหว่างวันที่ 11-26 พ.ย. 2564
สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เพื่อพัฒนาศักยภาพของแพทย์และบุคลากรสุขภาพในการให้บริการสุขภาพแนวใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยเน้นให้เกิดการเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวในการสร้างเสริมสุขภาพและดูแลตนเอง โดยมีแพทย์และบุคลากรสุขภาพเป็นผู้ให้การสนับสนุนนอกเหนือจากการได้รับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
หลักสูตรนี้มุ่งตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) โดยมุ่งพัฒนาทักษะของแพทย์และผู้ให้บริการสุขภาพในการให้บริการอย่างเป็นระบบตามรูปแบบ Chronic Care Model เพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการและการสร้างทีมบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมของผู้ป่วยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1. เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการดูแลสุขภาพโดยใช้ศาสตร์ของเวชศาสตร์วิถีชีวิต
2. พัฒนาทักษะภาวะผู้นำและการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการให้บริการสุขภาพวิถีใหม่
3. พัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ วางแผน กำกับ ติดตาม และประเมินสถานะวิถีชีวิตของผู้เข้ารับบริการ รวมถึงให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการมีวิถีชีวิตที่เหมาะสม
โครงสร้างหลักสูตร
เนื้อหาแบ่งออกเป็น 7 รายวิชา (Module) ประกอบด้วย
1. หลักการเวชศาสตร์วิถีชีวิตและการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (Principle of Lifestyle Medicine and Self-care)
2. โภชนาการและหลักปฏิบัติทางโภชนาการ (Nutrition and Guidelines)
3. กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)
4. การนอนหลับและผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Sleep and its Effect on Health and Well-being)
5. การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ (Mental Health Resilience)
6. การลด ละ เลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด (Alcohol, Smoking, and Addiction) 7. ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการ (Leadership and Management)
คุณสมบัติผู้เข้าอบรม
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ทำงาน ด้านสุขภาพอย่างน้อย 5 ปี
ลักษณะของหลักสูตรและระยะเวลาการศึกษา
– จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานระหว่างการบรรยาย อภิปราย และฝึกปฏิบัติในชั้นเรียน
– การประเมินผลประกอบด้วยการทำแบบทดสอบก่อน-หลังเรียน และการสอบภาคปฏิบัติ – เรียนวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์
ค่าลงทะเบียน
3,000 บาท (สำหรับศิษย์เก่าหรือผู้ผ่านการฝึกอบรมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล)
4,000 บาท (สำหรับผู้ที่ส่งเอกสารและชำระค่าสมัครก่อน 27 ต.ค. 2564)
5,000 บาท (สำหรับผู้ที่สมัครและชำระค่าสมัครหลัง 27 ต.ค. 2564)
หมายเหตุ การจัดอบรมของรุ่นนี้ได้รับทุนสนับสนุนการจัดอบรมบางส่วนจาก สสส.
สถานที่ฝึกอบรม
ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (On-site) (กรณีสามารถจัดได้)