ภาษาไทย English Intranet Webmail

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต รุ่นที่ 2

15 มีนาคม 2564


วันที่ 15 มีนาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาการศึกษาและฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต เป็นประธานในพิธีเปิด “การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine)” รุ่นที่ 2 ให้กับแพทย์จากหน่วยงานสังกัดระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐและเอกชน จำนวน 34 คน ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 ณ โรงแรม Richmond จังหวัดนนทบุรี และโรงแรม Movenpick เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
การดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และ เครือข่ายจากกรมอนามัย กรมการแพทย์ สำนักงานวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข BDMS Wellness Clinic คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี พัฒนาการ และโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมด้วยการศึกษาความต้องการด้านการศึกษาและฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสนอหลักสูตรเวชศาสตร์วิถีชีวิตสำหรับแพทย์และผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิ ตลอดจนสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในทุกมิติของระบบบริการต่อไป
การจัดฝึกอบรมหลักสูตรเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine Coursework Training) รุ่นที่ 2 นี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมก่อนสิ้นสุดของกระบวนการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ของแพทย์ผู้ให้บริการในระดับปฐมภูมิในการให้คำแนะนำและคำปรึกษาเพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพของผู้รับบริการอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกระบวนการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ประกอบด้วย ทฤษฎีและหลักการดูแลตนเอง อาหารและโภชนาการ เวชศาสตร์กิจกรรมทางกาย การนอนหลับ การส่งเสริมสุขภาพจิต และการลดละเลิกสารเสพติด ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแพทย์ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ความรู้ความเข้าใจและทักษะในการให้บริการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต แก่ผู้รับบริการระดับปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปทดลองปฏิบัติในการทำงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตต่อไป