วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ DEVEX @ WHA 2021 เป็นวันที่ 3 โดยในวันนี้เริ่มต้นการสัมมนาโดยพูดถึงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาวันนี้เพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของระบบสุขภาพที่จะสามารถรองรับปัญหาท้าทายต่อระบบสุขภาพเช่นการระบาดของโรค COVID 19 หรืออาจจะมีปัญหาอื่นๆในอนาคต โดย Vince Chadwick and Jenny Lei Ravelo โดยเริ่มจากการสัมภาษณ์ Richard Hatchett, CEO, Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) ในหัวข้อ Building capacity in LMICs ซึ่งได้กล่าวถึงบทบาทขององค์กร CEPI ที่มีต่อโปรแกรม COVAX โดยเน้น R&D และสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนที่เป็นธรรม จากนั้นมีการอภิปรายในหัวข้อ Strengthening the WHO โดยวิทยากรได้แก่ Amanda Glassman, Executive Vice President and Director for Global Health Policy, Center for Global Development, Björn Kümmel, Deputy Head of the Division Global Health, Germany's Federal Ministry of Health และ Suerie Moon, Co-director, Global Health Centre, Graduate Institute of International & Development Studies โดยในเวทีดังกล่าวได้กล่าวถึงบทบาทขององค์การอนามัยโลก WHO ในการสร้างความเข้มแข็งและบูรณาการนานาประเทศในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการสนับสนุนเรื่อง Surveillance system เพราะบางประเทศไม่มีข้อมูลระบาดวิทยาที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที วิทยากรเสนอแนะให้เสริมสร้างบทบาทที่เป็นอิสระขององค์การอนามัยโลกในการให้ข้อเสนอแนะ และการตรวจสอบแหล่งที่มาของโรค ซึ่งจะเกี่ยวข้องทั้งระบบธรรมาภิบาล ภาวะผู้นำ การพัฒนากำลังคนขององค์การอนามัยโลก และการได้มาซึ่งแหล่งงบประมาณซึ่งควรเปลี่ยนจากระยะสั้นเป็นระยะยาว และควรมีแหล่งที่มาจากการเก็บค่าสมาชิก รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉินทางด้านสุขภาพในอนาคต ต่อจากนั้นเป็นการสัมภาษณ์ในประเด็น Expanding access to medicines: lessons from a pharmaceutical company โดย Johanna Mercier, Chief Commercial Officer, Gilead โดยได้กล่าวถึงการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ สามารถผลิตยารักษาได้เอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของแต่ละประเทศ รวมถึงการสร้าง partnership ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGO ในการแก้ไขปัญหา ปิดท้ายด้วยการอภิปรายในหัวข้อ Health Systems of the Future: What We’ve Learned from COVID โดย Agnes Binagwaho, Vice Chancellor, University of Global Health Equity และ Prashant Yadav, Senior Fellow, Center for Global Development ได้กล่าวถึง การสร้างศักยภาพของประเทศในภูมิภาคต่างๆ เช่น อาฟริกา ให้สามารถดำเนินการผลิตวัคซีน หรือ ยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น PPE ซึ่งจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเพียงบางประเทศในระดับโลกเท่านั้น โดยมีการเสนอให้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้วมายังประเทศเล็ก ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยยกกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพาการผลิตวัคซีนจากประเทศอินเดียมากเกินไป เป็นต้น โดยเสนอทางออกระยะสั้น ในการเพิ่มศักยภาพการผลิต แต่ระยะกลางระยะยาว ต้องสร้างสถาบันร่วมกันในการฝึกอบรมคนให้ไปทำงานในประเทศต่างๆ โดยที่บริษัทวัคซีนไม่ต้องผลิตเอง และไม่ต้องไปทำเอง แต่ส่งคนไปช่วยฝึกอบรมคนในพื้นที่ให้ทำงานแทนได้ นอกจากนั้น วิทยากรพูดถึงว่าในการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพในอนาคต อาจจะไม่สามารถสนใจเพียงแค่เรื่องการผลิตวัคซีน แต่ต้องคิดถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การมีอุปกรณ์หรือนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว การขนส่งยาและวัสดุทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและถึงปลายทางได้ไว เช่น การใช้โดรนในการขนส่ง และการใช้หุ่นยนต์ในการให้การดูแลสุขภาพ โดยจะต้องเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นสามารถรองรับปัญหาท้าทายสุขภาพต่างๆในอนาคตได้นอกจากปัญหาโรคระบาดโควิด 19