ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมวางแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)

25 มิถุนายน 2564


วันที่ 25 มิถุนายน 2564 – รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พร้อมด้วยหัวหน้าโครงการย่อยที่ 1-5 และผู้ร่วมโครงการวิจัย ร่วมวางแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อรายความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการวิจัย และรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการวิจัย โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คุณชาติชาย สุวรรณนิตย์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน คุณจีรวรรณ หัสโรค์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน ทีมวิจัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข คุณเบญจญา วิบูลย์จันทร์ หัวหน้ากลุ่มงานสาธารณสุขชุมชนและอาสาสมัคร และทีมวิจัยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
หัวหน้าแผนงานวิจัย ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการย่อยต่างๆ ภายใต้แผนงานวิจัยในภาพรวม โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 การสังเคราะห์วรรณกรรมและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อสม./อสส. ได้นำเสนอผลการสังเคราะห์ในการประชุมร่วมกับทีมงานวิจัย 3 หน่วยงาน ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และส่งรายงานผลการสังเคราะห์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำผลการวิจัยจากโครงการย่อยที่ 2-4 ส่งต่อมายังโครงการย่อยที่ 5 การค้นหาภาพอนาคต (Future Search) เพื่อวางแผนและดำเนินงานวิจัยต่อไป พร้อมกันนี้ได้เรียนเชิญหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2-4 ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการย่อยต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 4 การวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาบทบาท อสม. สู่การเป็น “นวัตกรสังคม” ได้อาศัยกระบวนการ SALT Process (Support, Appreciate, Listen&Learn, Transfer) มาปรับใช้ในการวิจัย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน (อสม.) ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเมืองและอำเภอเสลภูมิ) จังหวัดปัตตานี (อำเภอบานาและอำเภอแม่ลาน) และจังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอสันกำแพงและอำเภอออมก๋อย) ผ่านกิจกรรมวาดภาพฝันในชุมชน เพื่อประเมินตนเองของการดำเนินการแก้ปัญหาในชุมชนโดย อสม. อันนำไปสู่การจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย การตั้งเป้าหมาย ระบุกิจกรรม ผู้รับผิดชอบ และระยะเวลาดำเนินโครงการ พร้อมการประเมินผลสำเร็จ ตัวอย่างเช่น การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ การสร้างสุนทรียพลานามัย หรือการส่งเสริมสุขภาพผ่านการจัดการโรคเรื้อรัง/การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยมีปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยที่สำคัญ ก็คือ การสนับสนุนจากส่วนกลาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ความเข้มแข็งของ อสม. และการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่ดี ตลอดจนการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ โดยไม่ต้องใช้การสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากสามารถจัดหาได้ในชุมชน เช่น งบ สปสช. กองทุนผ้าป่า เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ธันวดี สุขสาโรจน์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 การวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานของ อสม./อสส.ฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 การถอดบทเรียน อสม./อสส. ที่มีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศฯ ร่วมนำเสนอถึงการใช้กระบวนการวิจัยที่เน้นการสนทนากลุ่ม แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ โดยมีแผนการเก็บข้อมูลวิจัยในแต่ละพื้นที่ให้เสร็จสิ้นทั้งโครงการย่อยที่ 2 และโครงการย่อยที่ 3 คู่ขนานร่วมกันจำนวน 2 วัน (วันแรก-โครงการย่อยที่ 2 วันที่สอง-โคงการย่อยที่ 3) เนื่องจากพื้นที่มีเวลาค่อนข้างจำกัดในการเตรียมการและดำเนินงานวิจัยดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ การทบทวนองค์ความรู้ด้านการสร้างนวัตกรสังคมจากแหล่งวิชาการที่จำเป็นต่างๆ (นพ.อมร นนทสุต และอื่นๆ) รูปแบบการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม อาทิ การวิเคราะห์ระบบ/บทบาท/ทักษะที่จำเป็น/ศักยภาพการนำของ อสม. ที่แตกต่างกัน กระบวนการอื่นๆ ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรสังคม และระบบสนับสนุนต่างๆ เป็นต้น โดยขอให้นักวิจัยปรับปรุงและนำเสนอใหม่อีกครั้งตามคำแนะนำของผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนั้น จะมีการปรับรูปแบบและแผนการดำเนินโครงการย่อยที่ 2-3 ที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต โดยทีมงานวิจัย จะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางสำหรับการวางแผนการดำเนินโครงการย่อยและในภาพรวม พร้อมปรับกระบวนการวิจัยในการพัฒนาบทบาท อสม. การเป็น “นวัตกรสังคม” เพื่อสามารถตอบโจทย์การดำเนินโครงการวิจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป