ภาษาไทย English Intranet ITA

พิธีเปิดการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (The Development of Lifestyle Medicine)

11 พฤศจิกายน 2564


สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติจากดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และรศ.ดร.นพ. ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาการศึกษา และฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (The Development of Lifestyle Medicine) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมดังกล่าว โดยมีผศ. สมศักดิ์ วงศาวาส รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานต้อนรับประธานในพิธี วิทยากรคือ พญ. ฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ จากและผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิชาการด้านการให้บริการสาธารณสุข ดร.นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต ซึ่งศาสตร์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสุขภาพในสถานพยาบาลและสถานประกอบการด้านสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคตมากขึ้น ทำให้สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันและการปรับพฤติกรรมสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ร่วมพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากแพทยสภาให้เป็นสาขาวิชาหนึ่งด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาศักยภาพและความชำนาญการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.นพ. ภูดิท เตชาติวัฒน์ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเวชศาสตร์วิถีชีวิตซึ่งได้รับการพัฒนาจนเริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีขยายวงความต้องการไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศอิตาลี สหราชอาณาจักร ประเทศอิหร่าน และประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งการจัดการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้ความสำคัญกับทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ป่วย/ผู้รับบริการในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหาร การมีกิจกรรมทางกาย การลด ละ เลิกบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่าง ๆ การนอนหลับ และการส่งเสริมสุขภาพจิต อย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงบริบทการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย/ผู้รับบริการเป็นสำคัญ