ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “การคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ: สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และความท้าทายของประเทศในกลุ่มอาเซียน (Social Health Protection Situation, Issues, and Challenges in ASEAN Countries)”

6 สิงหาคม 2563


วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร.นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ รองผู้อำนวยการฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ รักษาการประธานหลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต พร้อมด้วยคณาจารย์ และบุคลากรสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “การคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ: สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และความท้าทายของประเทศในกลุ่มอาเซียน (Social Health Protection Situation, Issues, and Challenges in ASEAN Countries)” เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้เกี่ยวกับการออกแบบแผนการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียนให้กับนักศึกษาในหลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต กลุ่มสาขาวิชาการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพหลักสูตรนานาชาติ (Master of Primary Health Care Management - Special Track in Social Health Protection) พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นและความท้าทายในการออกแบบแผนการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นแนวทางให้นักศึกษานำไปพัฒนาต่อยอดเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ต่อไป การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Dr. Thant Sin Htoo (Assistant Secretary / Director, National Health Plan Implementation Monitoring Unit, Ministry of Health and Sports-Myanmar), Dr. Nguyen Khanh Phuong (Deputy Director, Health Strategy and Policy Institute, Ministry of Health-Vietnam), Dr. Bouaphat Phonvisay (Former NHIB Deputy Director-Lao PDR), Prof.Dr. Supasit Pannarunothai (Chair of Centre for Health Equity Monitoring Foundation-Thailand ) ร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายผ่านระบบ Zoom โดยมี ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนา ซึ่งจากการสัมมนาในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม ประเทศเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย มีขยายแผนการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพภายใต้แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมประชากรภายในประเทศภายใต้แผนประกันสุขภาพหลายแบบ ณ ห้อง Virtual Classroom อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกันในการพัฒนาไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยประเทศเมียนมาร์เผชิญกับความท้าทายด้านค่ารักษาพยาบาลแบบ out-of-pocket ที่สูง และการขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปัจจุบันประเทศเมียนมาร์เริ่มให้บริการชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพในระดับบริการปฐมภูมิ ในขณะที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใกล้จะประสบความสำเร็จในการให้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีเปอร์เซ็นต์การใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความท้าทายหลักสำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือความยั่งยืนของการจัดหาเงินทุนด้านสุขภาพ การบูรณาการแผนการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพภายใต้โครงการเดียวหรือโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ และการลดค่ารักษาพยาบาลแบบ out-of-pocket ประเทศเวียดนามมีความคุ้มครองสูงภายใต้การประกันสุขภาพทางสังคม แต่ยังคงมีความท้าทายในเรื่องความยั่งยืนและประสิทธิภาพของการจัดหาเงินทุนด้านสุขภาพและภาระของโรคต่าง ๆ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ประสบความสำเร็จในการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังคงมีความท้าทายในการผสานกันระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน และการจัดหาเงินทุนเพื่อการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน โดยการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนานาประเทศ อาทิเช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเนปาล และประเทศอินโดนีเซีย รวมมากกว่า 30 คน