ภาษาไทย English Intranet Webmail

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพิจารณาแนวทางสำหรับการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส.

29 มีนาคม 2565


วันที่ 29 มีนาคม 2565 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส และทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พิจารณาแนวทางสำหรับการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. ผ่านระบบ Zoom meeting โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวิชาการ พร้อมด้วยกลุ่ม อสม./อสส. ผู้บริหารองค์กร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการย่อย 5 “การวิจัยเพื่อค้นหาภาพอนาคตร่วมกันสำหรับเสนอทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพิจารณาแนวทางการพัฒนาบทบาทของ อสม./อสส. และจัดลำดับความสำคัญของแนวทางดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การค้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งบทบาทบริการปฐมภูมิและงานด้านสาธารณสุข บทบาทด้านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการมีสุขภาพดี และบทบาทด้านการเสริมพลังอำนาจให้แก่ประชาชนและชุมชนในการดูแลตนเอง โดยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ ในอันที่จะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป