ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังการทำงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ จังหวัดน่าน

14 มกราคม 2564


วันที่ 14 มกราคม 2564 – รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ได้รับเกียรติจากผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และนักวิจัยพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดน่าน ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอเชียงกลาง และอำเภอปัว เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังการทำงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ จังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายถนัด ใบยา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ และนางยุพิน แตงอ่อน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ผ่านระบบ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ร่วมกับทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ ประกอบด้วย นายวิชชุกร สุริยะวงศ์ไพศาล นายเกรียงศักดิ์ ธรรมอภิพล นางสาวดุษณี ดำมี และนางสาวกวินารัตน์ สุทธิสุคนธ์
การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้ร่วมรับฟังผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ พชอ. แต่ละอำเภอ ซึ่งพบว่า การดำเนินงานของ พชอ. ใน 3 อำเภอมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดและความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการออกกำลังกาย อาหารปลอดภัย จัดการขยะ ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคติดต่ออันตราย รวมไปถึงปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จเกิดจากความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ รวมทั้งการบูรณาการแผนงาน/โครงการและงบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.)
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับความต่อเนื่องในการดำเนินงาน พชอ. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะสู่การปฏิบัติระดับอำเภอและระดับจังหวัดที่เป็นโอกาสต่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในอำเภอ การมีโครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด (พชจ.) ระบบสนับสนุนการทำงาน ความต้องการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ พชอ. ในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ กระบวนการพัฒนาทักษะด้านการวิจัยให้กับนักวิจัยพื้นที่ ซึ่งทางโครงการวิจัยจะนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานของ พชอ. เพื่อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป