ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังการทำงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ จังหวัดนครพนม

18 มกราคม 2564


วันที่ 18 มกราคม 2564 – รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและบริการวิชาการ ร่วมกับทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ ประกอบด้วย นายวิชชุกร สุริยะวงศ์ไพศาล นายเกรียงศักดิ์ ธรรมอภิพล นางสาวดุษณี ดำมี และนางสาวกวินารัตน์ สุทธิสุคนธ์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังการทำงานกับผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ 3 อำเภอของจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย อำเภอนาแก อำเภอนาหว้า อำเภอโพนสวรรค์ และทีมนักวิจัยพื้นที่ พร้อมด้วย ดร.ศิริลักษณ์ ใจช่วง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ และนายจิรชาย ประสพปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ผู้ประสานงานพื้นที่จังหวัดนครพนม ผ่านระบบ Zoom Meeting
การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้ร่วมรับฟังผลการขับเคลื่อนงาน พชอ. ในประเด็นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและการจัดการขยะ รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-19 ภายใต้ปัจจัยความสำเร็จ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำของนายอำเภอ ความเข้มแข็งของสำนักงานเลขานุการ พชอ. การบูรณาการภาคีเครือข่ายในอำเภอ การประสานงานในแนวราบและบูรณาการกับงานประจำ และการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี 4 บทเรียนสำคัญคือ การขับเคลื่อนงานที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตนั้นมีมุมมองที่กว้างมากขึ้นกว่างานด้านสาธารณสุข การทำงานเน้นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่ชุมชนเป็นเจ้าของมากยิ่งขึ้น ความชัดเจนของนโยบายของผู้นำระดับอำเภอมีความสำคัญมากทั้งนโยบายสั่งการ-การติดตาม-บูรณาการงาน และความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ-ภาคประชาชน-ภาคเอกชนในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงาน พชอ. ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน การรับนโยบาย/การส่งต่อนโยบายไปปฏิบัติในทุกระดับ การบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายงบประมาณ รวมไปถึงการสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงาน ซึ่งทางโครงการวิจัยจะนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานของ พชอ. เพื่อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป