- ข่าวสารสถาบันฯ
- สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนประชุมร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานโลก
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน และเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมทาง Zoom กับ เครือข่ายการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานโลก (PHCPI) วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 19.30-21.00 น. โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิขององค์การอนามัยโลก Dr. Shannon Barkley, Technical Officer for Primary Health Care บรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกของเครือข่ายในเรื่อง กรอบแนวคิดและตัวชี้วัดสำหรับการวัดบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อการพัฒนา โดยองค์การอนามัยโลกจะแถลงข่าวการใช้กรอบแนวคิดนี้ในเดือนกันยายน 2564 นี้
โดยกรอบการวัดใช้แนวคิดเชิงระบบ ประกอบด้วย 1. การวัดศักยภาพของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ ปัจจัยกำหนดระบบสุขภาพ ประเภทโครงสร้าง และปัจจัยนำเข้า เช่น ระบบธรรมาภิบาล การปรับเข้าหาความจำเป็นด้านสุขภาพของประชากร การเงิน สถานบริการ กำลังคน ดิจิตัลเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ และสารสนเทศด้านสุขภาพ 2. การวัดผลปฏิบัติการของระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีการวัดกระบวนการและผลผลิต ได้แก่ การให้บริการสุขภาพ ประกอบด้วย รูปแบบการให้บริการ ระบบการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพ การปรับตัวยืดหยุ่นของสถานบริการและการให้บริการสุขภาพ โดยผลผลิตที่วัดประกอบด้วย การเข้าถึง และการมีของบริการสุขภาพ และคุณภาพของการบริการ 3. การวัดผลกระทบ ประกอบด้วย การวัดการบรรลุวัตถุประสงค์ของระบบสุขภาพ ซึ่งวัดที่ผลลัพธ์ ได้แก่ การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการสร้างความคุ้มครองทางด้านสุขภาพ และการวัดผลกระทบบั้นปลาย ได้แก่ สถานะทางสุขภาพ ความเป็นธรรม และการตอบสนองของระบบสุขภาพ และ 4. การวัดคุณภาพ ความเป็นธรรม และการยืดหยุ่นของระบบสุขภาพตั้งแต่โครงสร้าง ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต จนถึงผลกระทบบั้นปลาย ทั้งนี้ภายใต้องค์ประกอบ 3 ประการของการสาธารณสุขมูลฐาน ได้แก่ การบริการสุขภาพปฐมภูมิบูรณาการกับงานด้านสาธารณสุข การมีส่วนร่วมของภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมและนโยบายสุขภาพ และการเสริมพลังอำนาจแก่ประชาชนและชุมชนในการดูแลตนเอง ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะมีตัวชี้วัดย่อย โดยคาดว่าจะมีการนำกรอบแนวคิดนี้สู่การเก็บข้อมูลในแต่ละประเทศประมาณต้นปีพ.ศ. 2565
ต่อจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการนำกรอบแนวคิดดังกล่าวไปสู่ประเทศต่างๆของสมาชิก โดยสถาบันสุขภาพอาเซียนจะนำกรอบแนวคิดดังกล่าวไปบรรจุในหลักสูตรการจัดการการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษานำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาสู่การวิจัย การเชื่อมประสานกับกระทรวงสาธารณสุขในการนำกรอบแนวคิดดังกล่าวประยุกต์ใช้ในประเทศไทย รวมถึงการเผยแพร่กรอบแนวคิดดังกล่าวในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งได้เสนอแนวทางการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายด้านการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และนักวิชาการร่วมกัน
หลังจากนั้นเป็นการส่งมอบตำแหน่งโดย Beth Tritter, Executive Director, Primary Health Care Performance Initiative ได้รับการสรรหาไปทำงานเกี่ยวกับเครือข่ายการจัดการ COVID 19 ของ USAID และ Emily Bigelow ซึ่งเคยทำงานด้านเครือข่าย Universal Health Coverage มารับหน้าที่ Executive Director ต่อไป ทั้งนี้จะมีการประชุมเครือข่ายครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2564