- ข่าวสารสถาบันฯ
- สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอ “รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรู้ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”
วันที่ 7 มิถุนายน 2564 – รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) พร้อมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพิน เล่าซี้ อาจารย์ประจำสถาบันฯ และรองหัวหน้าโครงการ นำเสนอ “รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรู้ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณในโครงการดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) นายแพทย์ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย (สสว.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ผู้ประสานงานพื้นที่ และทีมนักวิจัยพื้นที่ 24 อำเภอ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ชุมพร สงขลา ศรีสะเกษ นครพนม และน่าน เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัย และการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
หัวหน้าโครงการได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ และระเบียบวิธีวิจัยที่เน้นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มนโยบายระดับชาติ/ระดับจังหวัด กลุ่ม พชอ.ระดับอำเภอ กลุ่มระบบบริการ กลุ่มชุมชน และกลุ่มประชาชน โดยเสริมด้วยการศึกษาเชิงปริมาณกับกลุ่มประชาชน ตามกรอบการประเมิน ซึ่งประกอบด้วย การบริหาร พชอ. ระบบริการสุขภาพอำเภอ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนและประชาชน การเสริมพลังครอบครัวและชุมชน อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
สำหรับการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ ได้มอบหมายให้รองหัวหน้าโครงการ นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรู้ระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม รายจังหวัด และรายอำเภอทั้งระดับดีเด่น/ระดับดี/ระดับกำลังพัฒนา โดยผู้เข้าร่วมเวทีเห็นว่าข้อมูลเชิงปริมาณที่ได้นำเสนอนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านคุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นในจังหวัด โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลเชิงปริมาณว่าอาจนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้น (Baseline) สำหรับแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้วัดหรือระบุความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของ พชอ. ในอนาคต และหากมีข้อมูลเชิงคุณภาพมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล พร้อมสรุปผล จะทำให้ข้อมูลสะท้อนประสิทธิผลของการดำเนินงานของ พชอ. ได้มากยิ่งขึ้น