ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดปัตตานี

10 สิงหาคม 2564


วันที่ 10 สิงหาคม 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และรองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ หัวหน้าโครงการย่อย 2 “การวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการปฏิรูปบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยทีมวิจัยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ทีมวิจัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และทีมวิจัยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดปัตตานี ผ่านระบบ Zoom meeting
การเก็บข้อมูลวิจัย โครงการย่อย 2 “การวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส.ฯ” ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสนทนากลุ่มกับกลุ่มผู้บริหาร จำนวน 11 ราย ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 12 สงขลา อาทิ ผู้อำนวยการ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และหัวหน้ากลุ่มสุขภาพภาคประชาชนและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเด็น องค์ประกอบในการดำเนินงานตามบทบาท อสม./อสส. ในบริบทของความหลากหลายของปัญหาสุขภาพ การพัฒนาเมือง และความคาดหวัง
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม ชี้แจงวัตถุประสงค์ รายละเอียดการเก็บข้อมูลวิจัย และประเด็นคำถาม พร้อมเป็นผู้นำสนทนากลุ่มกับกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มได้ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ อสม. การพัฒนาศักยภาพให้กับ อสม. ระบบสนับสนุนการทำงานของ อสม. และนโยบายหมอประจำตัว 3 คน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. อันนำไปสู่การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป