ภาษาไทย English Intranet Webmail

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดกาญจนบุรี

7 กันยายน 2564


วันที่ 7 กันยายน 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ หัวหน้าโครงการย่อย 3 “การวิจัยถอดบทเรียนของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส และทีมผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านระบบ Zoom meeting โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
การเก็บข้อมูลวิจัย โครงการย่อย 3 “การวิจัยถอดบทเรียนของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices)” ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการถอดบทเรียนจากวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ร่วมกับการถอดบทเรียนแบบเล่าเรื่องโดยกลุ่ม อสม. ที่มีแนวปฏิบัติการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ดีเด่นในประเด็นสุขภาพ พร้อมด้วยการแบ่งห้องย่อยสนทนากลุ่ม 3 ห้องย่อย โดยคละระหว่างกลุ่ม อสม.ดีเด่น อสม. ที่เกี่ยวข้อง/ทำงานในพื้นที่เดียวกับ อสม.ดีเด่น และผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพ อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จาก 6 อำเภอ คือ อำเภอท่าม่วง อำเภอพนมทวน อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนสะท้อนปัญหา แนวทางแก้ไข และกระบวนการทำงาน ตลอดจนความสำเร็จของการทำงานตามบทบาท อสม. ในบริบทของความหลากหลายในประเด็นสุขภาพสำคัญ ทั้งนมแม่สายใยรักแห่งครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน สุขภาพจิตชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการสาธารณสุขมูลฐาน การจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามความแตกต่างด้วยบริบททางสังคมวัฒนธรรม และลักษณะของพื้นที่ทำงาน (เขตเมือง กึ่งเมือง และชนบท) ซึ่งข้อมูลที่ได้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป