ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดร้อยเอ็ด

10 กันยายน 2564


วันที่ 10 กันยายน 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส และทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านระบบ Zoom meeting โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
การเก็บข้อมูลวิจัยนี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการย่อยที่ 3 “การวิจัยถอดบทเรียนของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ เป็นหัวหน้าโครงการย่อย โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการถอดบทเรียนจากวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ร่วมกับการถอดบทเรียนแบบเล่าเรื่องจากกลุ่ม อสม. ที่มีแนวปฏิบัติการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ดีเด่นในประเด็นสุขภาพ อาทิ การจัดการสุขภาพชุมชน สุขภาพจิต ยาเสพติด และนมแม่ ตามความแตกต่างด้วยลักษณะของพื้นที่ทำงาน (เขตเมือง กึ่งเมือง และชนบท) พร้อมด้วยการแบ่งห้องย่อยสนทนากลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 10 ราย โดยคละระหว่างกลุ่ม อสม.ดีเด่น กลุ่ม อสม. ที่เกี่ยวข้อง/ทำงานในพื้นที่เดียวกับ อสม.ดีเด่น และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพจากพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อำเภอธวัชบุรี อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภออาจสามารถ และอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานเทศบาลเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนสะท้อนปัญหา แนวทางแก้ไข กระบวนการทำงาน ตลอดจนความสำเร็จของการทำงานตามบทบาท อสม./อสส. ในบริบทของความหลากหลายของประเด็นสุขภาพสำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ได้มีความสำคัญอย่างมากและจะเป็นประโยชน์ต่อการสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป