- ข่าวสารสถาบันฯ
- ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ประชุมหารือกับ นายแพทย์นเรศ มณีเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และทีมให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของจังหวัดนครปฐม ณ ห้องกระแสชนะวงศ์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ประชุมหารือกับ นายแพทย์นเรศ มณีเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และทีมให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของจังหวัดนครปฐม ณ ห้องกระแสชนะวงศ์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อสนับสนุนความครอบคลุมของการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนในจังหวัดนครปฐม โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในการสร้างเครื่องมือในการสำรวจผู้รับบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของจังหวัดนครปฐม เพื่อวางแผนการดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือกลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยการดำเนินงานความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสุขภาพโลกมหิดล ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เป็นศูนย์ประสานงานภารกิจสุขภาพโลกมหาวิทยาลัยมหิดล (Coordination Centre for Mahidol University Global Health) โดยพันธกิจที่สำคัญคือการพัฒนางานเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นผู้นำทางวิชาการในการตอบสนองต่อประเด็นสุขภาพโลกทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ โดยในระยะเริ่มต้น จะมุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ Digital Health มาใช้ในการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพในลักษณะบูรณาการร่วมกันและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Integrated People Centred Health Services: IPCHS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง มีความเป็นธรรม และมุ่งสู่การสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับสังคมสูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการสนองตอบต่อการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และสอดคล้องกับวาระการบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพ (Universal Health Coverage) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของโลกอีกด้วย