ภาษาไทย English Intranet ITA

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดเชียงใหม่

12 ตุลาคม 2564


วันที่ 12 ตุลาคม 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ หัวหน้าโครงการย่อย 3 “การวิจัยถอดบทเรียนของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ และทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียนการทำงานของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices) จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านระบบ Zoom meeting โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
การเก็บข้อมูลวิจัยนี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการย่อยที่ 3 “การวิจัยถอดบทเรียนของ อสม. ที่มีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practices)” ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการถอดบทเรียนจากวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ร่วมกับการถอดบทเรียนแบบเล่าเรื่องจากกลุ่ม อสม. ที่มีแนวปฏิบัติการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ดีเด่นในประเด็นสุขภาพ อาทิ การจัดการสุขภาพ ทันตสุขภาพ ควบคุมโรคติดต่อ คุ้มครองผู้บริโภค ภูมิปัญญาท้องถิ่น สุขภาพจิต ยาเสพติด นมแม่และอนามัยแม่และเด็ก ตามความแตกต่างด้วยลักษณะของพื้นที่ทำงาน (เขตเมือง กึ่งเมือง และชนบท) พร้อมด้วยการแบ่งห้องย่อยสนทนากลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 10 ราย โดยคละระหว่างกลุ่ม อสม.ดีเด่น กลุ่ม อสม. ที่เกี่ยวข้อง/ทำงานในพื้นที่เดียวกับ อสม.ดีเด่น และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และผู้ใหญ่บ้านจาก 10 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง ดอยสะเก็ด หางดง สันทราย สันป่าตอง สันกำแพง สารภี แม่แตง แม่ออน และแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนสะท้อนปัญหา แนวทางแก้ไข กระบวนการทำงาน ตลอดจนความสำเร็จของการทำงานตามบทบาท อสม. ในบริบทของความหลากหลายของประเด็นสุขภาพสำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ได้มีความสำคัญอย่างมากและจะเป็นประโยชน์ต่อการสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป