- ข่าวสารสถาบันฯ
- สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดจันทบุรี
วันที่ 27 ตุลาคม 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และรองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ หัวหน้าโครงการย่อย 2 “การวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการปฏิรูปบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส รองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ และทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ร่วมเก็บข้อมูลวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดจันทบุรี ผ่านระบบ Zoom meeting โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
การเก็บข้อมูลวิจัยนี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการย่อย 2 “การวิจัยวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส.” ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสนทนากลุ่มกับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม อสม. กลุ่มประชาชนผู้รับบริการ และกลุ่มผู้บริหารที่ทำงานเกี่ยวข้องในระบบสุขภาพโดยตรง อาทิ สาธารณสุขอำเภอ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข จากพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอสอยดาว อำเภอเมือง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเด็นองค์ประกอบในการดำเนินงานตามบทบาทของ อสม./อสส. ในบริบทของความหลากหลายตามปัญหาสุขภาพ และความคาดหวัง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ อสม. การพัฒนาศักยภาพ และสนับสนุนการทำงานให้กับ อสม. รวมไปถึงนโยบายหมอประจำตัว 3 คน ซึ่งข้อมูลที่ได้มีความสำคัญอย่างมากและจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. อันนำไปสู่การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป