ภาษาไทย English Intranet ITA

คณะทำงาน AUN-HPN Working Group มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการประชุมกิจกรรม “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่”

3 ธันวาคม 2564


วันที่ 3 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรายุทธ สุภาพรรณชาติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการเปิดการประชุมเพื่อดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (ASEAN University Network for Health Promotion Network: AUN-HPN) โดยมี รศ.ดร.ศิรินันท์ กิติสุขสถิต ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์และสังคม ในฐานะแกนนำของคณะทำงานแผนงานการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการและเชิญชวนผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของทุกส่วนงานเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาด้านการสร้างเสริมสุขภาพในโครงการ “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่”
ดยกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากส่วนงานต่างๆโดยมีผู้แทนของ 6 ส่วนงานร่วมเป็นแกนนำ ได้แก่ - รศ.ดร. เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ
- ผศ.ดร.วิลาลินี สุวรรณจ่าง รองคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์
- ผศ.ดร. จรัมพร โห้ลำยอง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม
- รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม
- ผศ.ดร.ภิรทย์ เขนประโคน รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้
- รศ.ดร.นสพ. จิตรกมล ธนษักดิ์ อาจารย์คณะสัตวแพทย์
- นายธีรัตน์ คูคานธรรมทัศน์ นักทรัพยากรบุคคลกองทรัพยากรบุคคล
รวมทั้ง ผศ.ดร.จงดี โตอิ้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ สงค์ประชา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในฐานะรองเลขาธิการเคือข่าย AUN-HPN
กิจกรรมนี้เป็นการดำเนินการตามกรอบแนวคิด Healthy University Framework (HUF) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยสมาชิกของเครือข่าย AUN-HPN ได้ริเริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2538 ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาสู่ระบบการประเมิน Healthy University Rating System (HURS) ซึ่งได้รับการยอมรับจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN Rectors’ Meeting) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยกิจกรรมที่จะดำเนินการประกอบด้วย MU Healthy Lifestyles, Healthy Body, สอนออนไลน์ให้สนุก และการรณรงค์ความปลอดภัย เช่น เหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด และการพนัน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการเสริมหนุนภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และยังจะเป็นการสนับสนุนการประเมิน HURS ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย
การประชุมในวันนี้ได้รับความสนใจเข้าร่วมจากผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจากทุกส่วนงาน จำนวน 85 รายจาก 20 ส่วนงาน ทั้งผ่านทางออนไลน์และออนไซท์ ทั้งนี้จะมีทั้งกิจกรรม Kick off การพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อมุ่งสู่การเป็น Health University ในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ณ อาคารสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ รศ. ดร. นพ. ภูดิท เตชาติวัฒน์ เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้มอบหมายให้ รศ. ดร. ธันวดี สุขสาโรจน์ รองเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการเครือข่าย AUN-HPN ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการจัดกิจกรรมในวันนี้