- ข่าวสารสถาบันฯ
- สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสรุปแนวทางการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)
วันที่ 7 เมษายน 2565 - รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าแผนงานวิจัย “การสังเคราะห์ทางเลือกและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ชีระวิทย์ รัตนพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณศรี มงคลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักดิ์ วงศาวาส และทีมผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ จัดเวที “สรุปแนวทางการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส.” ผ่านระบบ Zoom meeting ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากหลากหลายองค์กร อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายแพทย์ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย นายศิริศักดิ์ ประทัปปรัศมีกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธาน อสม. เขตสุขภาพที่ 5 แพทย์หญิงสุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา นายชาติชาย สุวรรณนิตย์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน) และนายจรัส รัชกุล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยกลุ่มผู้แทนผู้บริหารองค์กร เจ้าหน้าที่ ประชาชน และ อสม./อสส. ในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร
เวทีสรุปแนวทางการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเสวนา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการระบุทางเลือกการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. เกณฑ์การเลือกแนวทาง นโยบายและระบบสนับสนุนในปัจจุบันที่เกื้อหนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปบทบาท อสม./อสส. ซึ่งนำไปสู่การค้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการปฏิรูปบทบาทของ อสม./อสส. ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งบทบาทบริการปฐมภูมิและงานด้านสาธารณสุข บทบาทด้านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการมีสุขภาพดี และบทบาทด้านการเสริมพลังอำนาจให้แก่ประชาชนและชุมชนในการดูแลตนเอง โดยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ ในอันที่จะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป