- ข่าวสารสถาบันฯ
- สถาบันฯ นำเสนอโครงการ ประเมินผลประสิทธิผลการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น
วันที่ 29 กันยายน 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มอบหมายผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรุณศรี มงคลชาติ อาจารย์ประจำสถาบันฯ เป็นหัวหน้าโครงการ นำเสนอ “โครงการประเมินผลประสิทธิผลการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กรณีศึกษาการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบการดูแลสุขภาพของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาการเด็ก และการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยนายแพทย์จักรกฤช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบหมายนายแพทย์กฤช ลี่ทองอิน เป็นประธานในที่ประชุม ณ ห้องประชุม 203 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรพินท์ เล่าซี้ และทีมวิจัยสถาบันฯ พร้อมด้วยทีมบุคลากรจาก สปสช. ส่วนกลาง และผู้แทน สปสช. เขต เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting
หัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการวิจัย ซึ่งให้ความสำคัญกับการประเมินผลการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ให้ความสำคัญกับระบบการจัดการข้อมูล การติดตามผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งจะมีการจัดระดับคุณภาพและความสำเร็จของการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบแต่ละแห่งเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกลุ่มเป้าหมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานและนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะผู้วิจัยพิจารณาปรับแก้เนื้อหาบางส่วนในข้อเสนอโครงการให้สอดคล้องกับขอบเขตของกองทุนที่แหล่งทุนกำหนด และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะผู้วิจัยกับคณะกรรมการในที่ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินงานป้องกันและควบคมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน และการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการเด็กเล็ก โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบของ สปสช. ซึ่งคณะผู้วิจัยควรนำข้อมูลดังกล่าวประกอบการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานวิจัยให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ต่อไป